วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

เด็กอัจฉริยะล้วงลึกเบื้องหลังของ "ด.ช.ธนัช" อัจฉริยะเด็กไทยที่ฝรั่งยังทึ่ง!

"ธนัช" นักเดี่ยวไวโอลินที่เคยสร้างสถิติที่มีผู้ชมสูงถึง 18 ล้านครั้งในยูทูปมาแล้ว
เมื่อพูดถึง "ด.ช.ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี" เชื่อว่ามีทั้งคนรู้จัก และไม่รู้จัก แต่ถ้าหากใครได้เคยติดตามข่าวเมื่อหลาย ๆ ปีก่อน เขาคือเด็กชายที่มีความสามารถรอบด้าน โดยเฉพาะการ เดี่ยวไวโอลิน ที่เคยสร้างสถิติที่มีผู้ชมสูงถึง 18 ล้านครั้งในยูทูปมาแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยวัยเพียง 4 ขวบ (ปัจจุบันอายุ 9 ขวบ) เขาสามารถจัดนิทรรศการแสดงภาพศิลปะเดี่ยว Solo Art Exhibition ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนในปี 2549

ที่สำคัญ ทุกชิ้นงานของเขามีความเป็นสากลจนสามารถสร้างสถิติการประมูลที่น่าทึ่ง และประสบความสำเร็จตั้งแต่ชิ้นแรกของการนำผลงานออกทำการประมูล และด้วยแรงประมูลแข่งขันกันของผู้ซื้อ ทำให้ราคาสูงขึ้นไปถึง 5 เท่าของราคาตั้งครั้งแรก หรือมีราคาขายสูงมากกว่า 20 เท่าของราคาที่เคยขายในประเทศไทยจนชาวต่างชาติพากันทึ่งกับความสำเร็จใน ครั้งนั้น

และที่อึ้งทึ่งไปกว่านั้น ผลงานทางศิลปะของเขาได้มีนักสะสมทั่วโลกซื้อไปสะสมมากกว่า 1 พันภาพจนได้รับฉายา "ปิกัสโซ่น้อย" ทำให้สื่อต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจ สัมภาษณ์เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และ รายการโทรทัศน์หลายครั้งหลายหน

นอกเหนือจากความสามารถข้างต้นแล้ว ธนัชยังมีความสามารถด้านดนตรี กีฬา ภาษาอังกฤษ และยังสนใจเรื่องดาราศาสตร์ กอล์ฟ และมวยไทยอีกด้วย

แต่ทั้งหมดที่หลายคนเรียกมันว่า "พรสวรรค์" เหล่านี้จะเจิดจรัสไม่ได้เลย ถ้าไม่มีคุณพ่อธนู และคุณแม่วัชราภรณ์คอยส่งเสริม และสนับสนุนอย่างเต็มที่

คุณแม่วัชราภรณ์ เริ่มต้นเล่าให้ ทีมงาน Life & Family ฟังถึงจุดเริ่มต้นของพรสวรรค์ในตัวลูกชายคนนี้ว่า "หูทางดนตรี" เป็นพรสวรรค์แรกของลูกที่เธอสังเกตได้ตั้งแต่ยังเล็ก

"สิ่งแรกที่แม่เจอคือหูทางดนตรี คือวันหนึ่งแม่เปิดเพลงเด็ก ๆ ร้องว่า C-o-c-o-n-u-t Coconut เป็นภาษาอังกฤษให้ลูก ฟังขณะที่แม่ก็ขับรถไปเรื่อย ๆ ธนัชตอนนั้นเพิ่งจะอายุได้หนึ่งขวบกับสิบเดือน นั่งอยู่ใน Child Seat ที่เบาะหลัง เขาบอกแม่ว่า หม่ามี้ เพลงนี้เหมือนกับเพลง Alouette เลย (Alouette เป็นเพลงสำหรับเด็กเป็นภาษาฝรั่งเศส) ถ้าแม่ไม่ได้ใส่ใจ คิดเพียงว่าเป็น เพียงประโยค ๆ หนึ่งที่ลูกเล็ก ๆ เอ่ยออกมา เราอาจไม่ได้เห็นธนัชเล่นดนตรี แต่วันนั้น แม่ฉุกใจคิดว่า เอ๊ะ ถ้าเด็กแค่ขวบสิบเดือน บอกผู้ใหญ่อย่างเราได้ว่า เพลงสองเพลง ร้องกันคนละภาษาเลย แต่ใช้ทำนองเดียวกัน เขาต้องมีหูทางดนตรีที่ดีแน่เลย แต่ก่อนอื่น แม่ต้องพิสูจน์ก่อนว่าลูกพูดถูกหรือเปล่า แม่ก็รีบหาที่จอดรถ แล้วตั้งใจฟังเพลง ปรากฏว่าถูกของลูก เมื่อกลับถึงบ้านก็ตื่นเต้นบอก คุณพ่อ ต่อจากนั้นเราก็ยังทดสอบเพลงอื่น ๆ อีกหลายเพลง ลูกตอบได้หมดเลย เราเลยค่อนข้างมั่นใจว่าดนตรีนี่ใช่"

พอเริ่มค้นพบเรื่องดนตรี และมั่นใจว่าลูกมีศักยภาพทางด้านนี้ ทั้งตัวเธอและสามีก็พยายามส่งเสริมลูกอย่างเต็มที่

"เราเปิดเพลงให้เขาฟัง และพาเขาออกไปเห็นการแสดงจริง ไปพบนักดนตรีขณะเล่น เราพาธนัชไปดูโอเปร่าตั้งแต่สองขวบ ลองนึกภาพเด็กสองขวบ นั่งอยู่ในโรงละครไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง โอกาสที่พ่อแม่ลูกจะดูการแสดงโดยที่ลูกไม่ยุกยิกรบกวนคนอื่นนั้นค่อนข้างยาก แต่ธนัชอยู่ได้ นั่งดูอย่างตั้งอกตั้งใจ ตั้งแต่สองทุ่มซึ่งปกติจะเป็นเวลานอนของเขา จนโอเปร่าจบตอนห้าทุ่ม พอเราเห็นเขาดูได้ เราก็พาเขาออกบ่อยขึ้น ไปชมวงออร์เคสตรา จนเขาเป็นคนบอกว่าเขาอยากเล่นไวโอลินเมื่อตอนอายุได้สามขวบครึ่ง ก็เริ่มเรียนแล้วพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ มาจนถึงทุกวันนี้"

หลังจากนั้น เธอ และสามีก็ค่อย ๆ สังเกต และสนับสนุนความสามารถด้านอื่น ๆ ของลูกตามมาทั้งศิลปะ กีฬา ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์

"สิ่งที่เราพบ มันไม่ได้มาพร้อม ๆ กัน แต่ค่อย ๆ มา ตามความเหมาะสมของวัย ความพร้อมของร่างกาย พัฒนาการทางสมอง เราพบศักยภาพทางภาษาก่อนตั้งแต่ธนัชอายุไม่ถึงขวบ เขาก็พูดได้ 2 ภาษาด้วยหลาย ๆ พยางค์ ตามด้วยดนตรีกับศิลปะ พอโตขึ้น เรายังได้พบความสามารถทางการพูดในที่สาธารณะ (public speaking) และวิชาการอื่น ๆ อีกโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์"

"ดังนั้น ไม่ต้องมีญาณพิเศษสำหรับการเลี้ยงลูก แต่พ่อแม่ต้องใส่ใจในสิ่งที่บางครั้งอาจดูเล็กน้อยไม่สำคัญ เพราะเวลาที่ลูกฉายแววบางอย่างออกมา อาจมาเพียงแวบเดียว แล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่ทันสังเกต เราอาจไม่พบ และเมื่อเราพบอะไรบางอย่าง อาจจะใช่และไม่ใช่ พ่อแม่ต้องเอามาคิดต่อว่าจะทดสอบอย่างไรว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ แล้วเมื่อพบแล้ว จะพัฒนาอย่างไร เหล่านี้ เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ทั้งพ่อและแม่ต้องประสานแรงกายแรงใจช่วยกันในทุก ๆ ก้าวที่ลูกเติบโตขึ้น" คุณพ่อธนูกล่าวพร้อมกับมีความเชื่อว่า "เด็กทุกคนมีพรสวรรค์อยู่ในตัว"

"นั่นคือสิ่งที่เราเชื่อเสมอ พ่อแม่ทุกคน ถ้าเชื่ออย่างนี้ เมื่อพบพรสวรรค์ของลูกแล้วหาวิธีพัฒนา ถ้าพัฒนาเองไม่ได้ ต้องหาผู้เชี่ยวชาญ และต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พรสวรรค์นั้นก็จะส่งประกายเจิดจรัสออกมาครับ ถ้าพ่อแม่ให้เวลากับลูก เฝ้าทะนุ ถนอมเลี้ยงดูและสังเกตลูก พ่อแม่ก็จะเห็นว่าลูกจะทยอยส่งสัญญาณให้พ่อแม่รู้ว่า เขาชอบ และมีความสุขเมื่อได้ทำอะไร" คุณพ่อธนูขยายความถึงความเชื่อข้างต้น

เผยเทคนิคเลี้ยงลูกให้เก่ง และมีความสุข

คุณพ่อธนูกล่าวต่อไปว่า การเลี้ยงลูกให้เก่ง และดีนั้น บทหนักอยู่ที่พ่อแม่ที่ต้องเรียนรู้ไปกับเขาในสิ่งที่เขาอยากทำ หากลวิธี มีระเบียบวินัย และสร้างแรงจูงใจให้เขาฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ให้เขารู้สึกสนุกสนาน และรู้ว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเขา คอยเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ

"ธนัชเป็นเด็กคนเดียวของบ้าน ดังนั้นเราไม่ได้เทียบว่าลูกเราพิเศษกว่าเด็กอื่น เราเพียงแต่พบว่าลูกมีสิ่งใดมากับตัว สิ่งใดที่เขาชอบ แล้วเราก็พัฒนาเขาตั้งแต่เล็กซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนาการทางร่างกาย ใยสมอง อารมณ์ ความกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้ของเขามีเต็มเปี่ยม ประกอบกับเวลาในขณะนั้นของลูกก็ยังมีอยู่อย่างเหลือเฟือ เมื่อใส่สิ่งที่ถูกต้องกับความชอบของลูกด้วยวิธีการอันเหมาะสม และต่อเนื่อง ผลลัพธ์ก็ออกมาดีเอง" คุณพ่อธนูเผย

ด้วยการเป็นเด็กที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ในหลาย ๆ เรื่อง ความคาดหวังของพ่อแม่ย่อมต้องมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับครอบครัวนี้ พวกเขามีความหวังเหมือนพ่อแม่ทั่ว ๆ ไปที่อยากเห็นลูกประสบความสำเร็จ เป็นเด็กดี ดูแลตัวเองได้ และสามารถดูแลและเป็นที่พึ่งให้พ่อแม่ยามสูงวัยได้ในอนาคต

"เราก็คงเหมือนกับพ่อแม่ทั่ว ๆ ไป ที่อยากเห็นลูกประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาทำ เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น และมีความสุขในชีวิต เราพยายามที่จะให้เขาเติบโตเล่าเรียนในประเทศไทยนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะได้มีโอกาสซึมซับทัศนคติ ค่านิยม และความเป็นไทยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ" คุณพ่อธนูเผย

แม้วันนี้ด.ช.ธนัชจะกลายเป็นเด็กมีชื่อเสียง มีความสามารถ และเก่งในหลาย ๆ ด้าน แต่คุณลักษณะนิสัยดี ๆ ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมคือสิ่งที่บ้านนี้ให้ความสำคัญมาก

"เรายังต้องดูแลไม่ให้เขาลืมตัว หรือหยิ่งยโส ธนัชยังคงได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพเรียบร้อย มีสัมมาคารวะ ถึงแม้เขาสามารถเรียนรู้ในระดับที่สูงกว่าอายุ แต่เรายังคงให้ความสำคัญกับวัยเด็กของเขา เขายังต้องได้เล่นสนุก ตามวัย ตามจินตนาการของเขาอย่างที่เด็กในวัยนี้พึงมี เพราะเราตระหนักดีว่าเขาเป็นเด็กได้เพียงครั้งเดียว ส่วนเวลาที่จะเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่นั้นยังมีอีกยาวไกล เราจึงพยายามรักษาช่วงเวลาที่ดีที่สุดนี้ของเขาให้นานที่สุด เขายังเล่นกับคุณพ่อคุณแม่แบบเด็ก ๆ ยังกระโดดกอดคอ ขี่หลัง จักจี้ และเล่นอะไร ๆ แบบเบสิค แต่ก็ให้ความสุขสำราญกันทั้งครอบครัว" คุณแม่วัชราภรณ์เล่า

วันสบายๆ สไตล์น้องธนัช

สำหรับตัวตนของธนัช คุณพ่อธนูเป็นตัวแทนบอกเล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่า ธนัชเป็นเด็กแจ่มใส เบิกบาน สุภาพ อ่อนโยน ขี้เล่น มีอารมณ์ขัน ช่างพูด ช่างคุย ชอบพบปะสังสรรค์กับผู้คน กล้าแสดงออกในที่สาธารณะ และรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ

ทุก ๆ เช้า ธนัชจะตื่นตีห้าครึ่งด้วยเสียงหัวเราะกับคุณพ่อ เมื่อทำธุระส่วนตัวเสร็จ ก็จะลงมาเริ่มวันใหม่ด้วยแปะก๊วยนมสดอุ่น ๆ ที่คุณพ่อเตรียมไว้ให้ แล้วจึงออกไปหน้าบ้านเพื่อออกกำลังกาย เริ่มตั้งแต่การวอร์มด้วยการยืดเส้นยืดสาย (Stretching) จากศีรษะถึงปลายเท้า ต่อด้วยการรำมวยจีน (ไทชิ) กระโดดเชือก วิดพื้น ถ้ายังพอมีเวลาก็ไปซ้อมพัตต์กอล์ฟ และเปียโน แล้วส่งไม้ต่อไปให้คุณแม่ที่จะต่อด้วยการซ้อมไวโอลิน ซึ่งช่วงนี้ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง พอเสร็จก็ได้เวลาอาหารเช้า พักอาบน้ำแต่งตัว

หลังจากนั้นก็เป็นเวลาของวิชาการต่าง ๆ ที่ต้องใช้สมอง และสมาธิ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และวิชาอื่น ๆ สับเปลี่ยนกันไป พอเที่ยงก็พักรับประทานอาหารกลางวัน เล่นตามอัธยาศัย แล้วต่อด้วยวิชาการที่เป็นกิจกรรม เช่น ศิลปะ การเรียนแบบ Interactive บนคอมพิวเตอร์ พิมพ์ดีดไทย-อังกฤษ ช่วงบ่ายก็จะมีการออกกำลังกับคุณพ่อ เช่น แบดมินตัน หรือซ้อมชกเป้าแบบมวยไทยตามแต่ที่เขาอยากจะเล่น ก่อนอาหารเย็นก็จะซ้อมไวโอลินอีกรอบ เสร็จจากทานอาหารเย็น พักผ่อนดูรายการสารคดีทางโทรทัศน์ เล่นตามอัธยาศัย ทุ่มครึ่งถึงสองทุ่ม เตรียมอาบน้ำเพื่อเข้านอน

แต่ก่อนเข้านอน ธนัชจะมาทบทวนคำศัพท์ด้วยการเขียนไทยและอังกฤษ วัน 10 คำ และเขียนเรียงความ (Essay) ความยาว 15 บรรทัด จบวันด้วยเสียงหัวเราะกับคุณพ่อ ด้วยการเล่นแบบเด็กผู้ชาย มวยปล้ำที่สนุกสนานสร้างเสียงหัวเราะไปไกลถึงคุณแม่ที่กำลังทำความสะอาดห้อง ครัว แล้วจึงเข้านอนหลับไปด้วยรอยยิ้ม

นอกจากเวลาเรียนรู้ในบ้านแล้ว คุณพ่อเล่าต่อไปว่า บางวันก็จะพากันออกไปเรียนรู้นอกสถานที่ ทั้งสวนสาธารณะในตอนเช้าเพื่อวิ่งเล่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เข้าห้องสมุดท่านพุทธทาส ไปเรียนพิเศษกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น เรียนกับอาจารย์สอนไวโอลิน ส่วนกิจกรรมต่าง ๆ ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม

ปัจจุบันธนัชอายุ 9 ขวบ ออกมาจากระบบโรงเรียนตอนประถมศึกษาปีที่ 3 แล้วมาเรียนในระบบโฮมสคูล (Home School) อยู่ที่บ้าน โดยจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ภายใต้สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งคาดว่า ในปีหน้า ธนัชจะสามารถรับการประเมินเพื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เนื่องจากธนัชเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำ ให้ความรู้ทางวิชาการหลายวิชาของเขาพัฒนาไปจนถึงระดับมัธยมแล้ว

ด้วยความที่ธนัชทำอะไรได้ในระดับดีเยี่ยมในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ยังยากที่จะตอบว่าเขาจะเป็นอะไรในอนาคต ในฐานะพ่อแม่ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในขณะนี้คือ สนับสนุน ส่งเสริม เปิดโอกาส ให้เขาได้เรียน ได้ลอง ได้สัมผัส มีประสบการณ์ในสิ่งที่เขาสนใจและอยากเรียนรู้

"พ่อแม่เป็นผู้นำทาง และชี้ให้เห็นถึงหนทางก้าวหน้าในแต่ละอาชีพ แต่การตัดสินใจสุดท้ายคงอยู่ที่ตัวเขา ซึ่งเราคำนึงถึงความสมดุลในทุก ๆ ด้านเป็นปัจจัยสำคัญ การพัฒนาลูก เราไม่ได้มุ่งแต่วิชาการหรือความสามารถ แต่เรายังคำนึงถึงคุณธรรมในจิตใจที่ต้องระลึกเสมอว่าการเป็นคนดี สำคัญกว่าการเป็นคนเก่ง และต้องมีความกตัญญูควบคู่ไปด้วย" นี่คือสิ่งที่คุณพ่อธนู และคุณแม่วัชราภรณ์ มองว่า ชีวิตคือของลูกไม่ใช่พ่อแม่เป็นผู้ชี้ขาด

ท้ายนี้ การจะพัฒนาลูกให้มีคุณภาพนั้น คุณแม่วัชราภรณ์ฝากแง่คิดไว้น่าสนใจว่า การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ระดมสมองและความคิดของทั้งพ่อและแม่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อลูกตระหนักว่าสิ่งที่เขาทำนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง พ่อแม่เห็นความสำคัญ และให้การยอมรับ เขาก็จะทำสิ่งอื่น ๆ ตามออกมาให้เห็นเรื่อย ๆ

ส่วนคุณพ่อธนูกล่าวสั้น ๆ แต่ลึกซึ้งว่า ชีวิตนี้ทุ่มเทเพื่อลูกเพียงคนเดียว

"ผมเกษียณอายุตัวเองตั้งแต่อายุสี่สิบต้น ๆ ผ่านงานมามากมายหลายสาขา ส่วนแม่เขาก็เกษียณตั้งแต่อายุสามสิบต้น ๆ เราทั้งคู่เคยทำงานในตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทใหญ่ ตอนนี้ผมเลยหกสิบไปแล้ว ส่วนแม่เขาก็ห้าสิบ เราทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับลูกรักคนเดียวของเรา หนูน้อยธนัช เปลวเทียนยิ่งทวีครับ"

ทั้งหมดนี้ คือเบื้องหลัง และที่มาของความสามารถพิเศษด้านต่างๆ ของธนัชที่มีคุณพ่อคุณแม่คอยบริหารจัดการเวลาให้ลงตัวควบคู่ไปกับการเสริม สร้างชีวิตที่สนุกสนานตามวัย และคงไม่เกินไปนักถ้าจะบอกว่า "ความรัก" นั่นเองคือตัวจุดประกายอัจฉริยะในตัวเด็กผู้ชายที่ชื่อ "ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี" คนนี้
พร้อมหน้าครอบครัว "เปลวเทียนยิ่งทวี"
ยืดเส้นยืดสายด้วย "การรำมวยจีน (ไทชิ)"
"มวยไทย" ศิลปะการต่อสู้ของไทยที่ธนัชชื่นชอบ
หนอนหนังสือตัวยงคงต้องยกให้ธนัชเลย
ตัวอย่างภาพผลงานสีน้ำของธนัชในวัย 8 ขวบ
นิทรรศการแสดงภาพศิลปะเดี่ยว Solo Art Exhibition ครั้งที่ 2 ของด.ช.ธนัช เมื่อปี 2554
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น