วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

วิธีรับมือเด็กดื้อเด็กซน ด้วยกฏกติกา


วิธี รับมือเด็กดื้อเด็กซน ด้วยกฏกติกา วันนี้อยากถามผู้อ่านที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ว่าเคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ที่ ร้านสะดวกซื้อไหมคะ ได้ยินเด็กน้อยพูดจาเสียงดังเพื่อจะเอาขนม ในขณะที่ใกล้ ๆ กันคุณแม่ยืนหน้าบูดบึ้งบอกเด็กน้อยว่า “ไม่ได้” ในมือก็ยื้อแย่งขนมนั้นไปด้วย สักพักคุณแม่ทนไม่ไหวตีเด็กน้อย เรื่องจบตรงที่เด็กน้อยร้องไห้กระจองอแง

หรือว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่โรงเรียนตีเพื่อนข้าง ๆ แกล้งเอาของเพื่อนไปซ่อน หยิบอาหารจากจานมาปาใส่เพื่อน หรือแม้แต่ในชั้นเรียนเมื่อครูให้ทำงานก็จะเดินไปเล่นของอย่างอื่น เมื่อครูดุ ก็จะแสดงการต่อต้านโดยการเดินออกนอกห้องหรือป่วนจนเพื่อนเรียนไม่ได้ คุ้นกันหรือไม่คะ
“หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพ” ในฉบับนี้ จะขอเล่าถึงพฤติกรรมของเด็กที่มักถูกเรียกว่า “ดื้อ ซน และไม่เชื่อฟัง” ซึ่งจะว่าไปแล้ว คุณแม่และคุณครูที่ต้องรับมือกับเด็กเล็กก็มักจะคุ้นเคยกับคำว่า “กฎ” ซึ่งกฎในที่นี้หมายความได้หลายอย่างแล้วแต่บุคคล แต่ละครอบครัว และแล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งนักจิตวิทยาพัฒนาการจากเมโยคลินิก สหรัฐอเมริกา ได้ให้กรอบไว้ว่า “กฎที่ดีจริง ๆ แล้ว ควรเริ่มจากความรักของคุณพ่อคุณแม่ และเพื่อการเรียนรู้ของลูกน้อย” เท่านั้น แต่มักจะพบว่ากฎส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับการลงโทษในรูปแบบต่าง ๆอย่างไรก็ตามกฎไม่ใช่การลงโทษหากฝ่าฝืน แต่คือการสอนให้เด็กจัดการกับความรู้สึกและพฤติกรรมของตัวเอง สมาคมกุมารแพทย์สหรัฐ ได้ออกหลักเกณฑ์โดยคร่าว ๆ ไว้ว่า ระบบการลงโทษที่ดีที่สุดหลังจากที่เด็กฝืนกฎแล้วคือ การเสริมแรงเพื่อให้เกิดพฤติกรรมแง่บวกและมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับพฤติกรรมที่ต้องการงด และทั้งหมดต้องมาจากความรักและส่งเสริมความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยนักจิตวิทยาพัฒนาการและกุมารแพทย์จากโรงพยาบาลเมาท์ไซไนน์ในนิวยอร์กกล่าวว่า คุณพ่อคุณแม่จะต้องเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษ และต้องรู้ว่ากฎต่าง ๆ จะไม่มีประโยชน์เลยจนกว่าเด็กจะอายุประมาณ 8-9 เดือน เพราะก่อนหน้านั้นเด็กจะไม่เข้าใจคำว่า “ไม่” หรือ “ห้าม” ดีพอที่จะทำตาม ซึ่งจริง ๆ แล้วเด็กน้อยคนที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ไม่” อย่างแท้จริงก่อนอายุ 18 เดือน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องลดความคาดหวังลง ต้องไม่ลืมว่ากฎควรมีความยืดหยุ่นตามระดับพัฒนาการและช่วงอายุ โดยเด็กที่อายุ 1–2 ขวบ ควรจะกำหนดรูปแบบของกฎต่าง ๆ และอธิบายว่ากฎมีไว้เพื่ออะไร วิธีเสริมแรงพฤติกรรมแง่บวกเบื้องต้น 1. พยายามเบี่ยงเบนความสนใจ 2. นำสิ่งที่เป็นปัญหาออกมา 3. ทำท่าทีเฉยเมย เช่น ถ้าเด็กทะเลาะกันเพราะของเล่น 1 อย่าง ให้เริ่มจากการนำของเล่นที่น่าสนใจพอ ๆกันไปให้ และนำของเล่นที่เป็นปัญหาออกมาให้พ้นสายตาเด็ก โดยทำท่าทีเฉย ๆ ไม่ต้องดุซ้ำ “กฎ” จะเริ่มได้เมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะทางอารมณ์ของเด็กเป็นสำคัญ เด็กที่อยากได้โน่นได้นี่ มักจะตอบสนองได้ดีกับกฎที่เกี่ยวกับการให้รางวัลต่าง ๆ ในขณะที่เด็กที่มีปัญหาเรื่องการเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆควรใช้กฎที่เป็นการกำหนดกิจวัตรประจำวันเป็นเรื่อง ๆ ส่วนเด็กที่มีปัญหาเรื่องการแบ่งปันของกับผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะนำของที่ชอบที่สุดออกไปก่อนที่เพื่อนจะมา เป็นต้น แต่คำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ยุคนี้คือ ถ้าเด็กดื้อแล้วควรจะตีหรือไม่ สมาคมกุมารแพทย์สหรัฐได้ทำวิจัยเรื่องนี้พบว่า การตีคือการลดความสำคัญของกฎ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะคาดไว้ นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์กล่าวว่า การตีนี้จะส่งผลร้ายในแง่อื่น ๆ ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง–ต่ำ มักมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า ยิ่งทำโทษมาก ก็จะยิ่งดี ซึ่งมักเป็นเหตุผลมาจากความคิดที่ว่าเด็กมักจะมีพฤติกรรมไม่ดีอยู่ตลอดเวลา ส่วนจากงานวิจัยของนักวิเคราะห์พฤติกรรมมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอฟกิน พบว่าเกือบร้อยละ 32 ของคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกแรกเกิดถึง 3 ขวบ มักจะทำโทษลูกโดยการตี เนื่องจากเป็นความเชื่อที่ผิด ๆ ว่าลูกจะกลัวและเคารพ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการตีเป็นผลมาจากความกลัวของคุณพ่อคุณแม่ที่เกิดขึ้นจากความคิดว่าในอนาคตลูกจะไม่เชื่อฟังและตนจะหมดความสำคัญ ซึ่งการตีนั้นนอกจากระดับความเชื่อฟังจะลดลงแล้วยังทำให้เด็กอยากฝืนกฎเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม กฎที่ถูกตั้งขึ้นจะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก เมื่อไหร่ก็ตามที่กำราบความดื้อด้วยความรักตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว ปัญหาใหญ่ ๆ จะไม่เกิดขึ้นตามมาแน่นอน. อ.ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มา เดลิินิวส์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น